แข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 52 สุดคึกคัก ทีม “iRAP RIDER” จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โค่นเพื่อนร่วมสถาบันคว้าแชมป์ไปครองอย่างขาดลอย ลูกทีมเผยใช้เทคนิคซ้อมหนัก เคลื่อนที่เร็ว พร้อมชิงแชมป์ตัวแทนประเทศกับอาชีวะ ณ เมืองทองธานี ต้นเดือน มิ.ย.นี้ วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ MCC Hall เดอะมอลล์ บางกะปิ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น)(ส.ส.ท.) จัด “การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2552” รอบชิงชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษา และยุวชน โดยมี ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) และนายวินัย รอดจ่าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานการจัดการแข่งขัน ศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า การแข่งขันหุ่นยนต์ในปีนี้ ส.ส.ท.ได้จัดประเภทการแข่งขันขึ้นทั้งหมด 3 ประเภท คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย ระดับอุดมศึกษา ยุวชน และ TPA PLC Competition ซึ่งในระดับอุดมศึกษามีนักศึกษาเข้าร่วมทั้งหมด 81 ทีม จาก 38 สถาบัน โดยทีมที่ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายจะเข้าแข่งขันกับทีมอาชีวะที่ผ่านเข้ารอบ โดยจะมีการแข่งขันระหว่างวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ที่เมืองทองธานี เพื่อค้นหาตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขัน ABU ROBOT CONTEST ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยในปีนี้มีชื่อการแข่งขันว่า “ร่วมตะลุยลั่นกลองชัย” หรือ Travel Together for the Victory Drum
สำหรับการแข่งขันยุวชน กรังด์ปรีซ์ ระดับมัธยมศึกษานั้น มีนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 224 ทีม จาก 103 โรงเรียน ซึ่งมีการแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ประเภท คือ การแข่งขันหุ่นยนต์เล่นยิมนาสติก หุ่นยนต์อัศวิน และหุ่นยนต์เล่นละคร ในแนวคิดหุ่นยนต์เที่ยวไทย นอกจากนี้ยังมีการแข่งขัน TPA PLC Competition ซึ่งในปีนี้มีการนำแนวความคิดเรื่องการละเล่นพื้นบ้านมารประยุกต์เข้ากับการแข่งขัน ในชื่อเกม การแข่งขันหุ่นยนต์ทอยหลุม และมีนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขัน 63 ทีม จาก 33 สถาบัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับไฮไลต์การแข่งขันครั้งนี้คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับอุดมศึกษาภายใต้ชื่อ “ร่วมตะลุยลั่นกลองชัย” เนื่องจากเป็นการตัดสินเพื่อหาทีมตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติ ABU ROBOT CONTEST ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยแต่ละทีมจะต้องบังคับหุ่นยนต์ออโต้ และหุ่นบังคับมือ (Manual) ให้ร่วมเดินทางฝ่าอุปสรรคเพื่อพาผู้โดยสารข้ามภูเขาไปตีกลองชัยบนภูเขา ภายในเวลา 3 นาที ทีมใดใช้เวลาน้อยที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย ระดับอุดมศึกษา ได้แก่ ทีม iRAP RIDER จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เฉือนชนะทีม iRAP ปูนขาว เพื่อนร่วมสถาบัน ไป 2 :1 เกม ทั้งนี้ iRAP RIDER ต้องเข้าไปแข่งขันกับทีมจากอาชีวะทั่วประเทศอีกครั้งในเดือน มิ.ย.เพื่อลุ้นเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน ณ ประเทศญี่ปุ่น
นายอรัญ แบล็ทเลอร์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ทำหน้าที่บังคับหุ่นมือ (Manual) กล่าวว่า เทคนิคที่คว้าแชมป์ในครั้งนี้คือ มีการเตรียมตัวค่อนข้างดี ฝึกซ้อมกับรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ และมีเวลาซ้อมนานกว่า 1 เดือน อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่จะพบกับทีมจากอาชีวะนั้นจะต้องกลับไปฝึกฝนเรื่องความเร็วของเวลา และปรับปรุงตัวจับสัญญาณไฟเพื่อให้การบังคับหุ่นง่ายและรวดเร็วขึ้น ซึ่งความหวังที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยนั้นไม่ได้คาดหวังมาก แต่จะต้องฝ่าด่านอาชีวะไปก่อน ซึ่งสมาชิกในทีมจะทำให้ดีที่สุด ทั้งนี้ ผลการแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชน กรังด์ปรีซ์ ทั้ง 3 ประเภท คือ หุ่นยนต์เล่นละครเที่ยวไทย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม SKN-3 โรงเรียนสวนกุหลาบ นนทบุรี ประเภท Robo Knight2552 รางวัลชนะเลิศ คือ ทีม Wonderer โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี ส่วนรางวัลหุ่นยนต์ยิมนาสติก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมลูกแม่รำเพย โรงเรียนเทพศิรินทร์ ส่วนการแข่งขัน TPA PLC Competition หุ่นยนต์ทอยหลุม หรือ ROBO Pitch&Toss 2009 ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีมก้านกล้วย จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งหมดจะได้รับเงินรางวัลทีมละ 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น